เรียนวาดการ์ตูนญี่ปุ่น,การฝึกเส้น Black ink
ในการฝึกตัดเส้นงานการ์ตูน แรกเริ่มของการลงเส้นนักเรียนมักจะเกิดปัญหามือไม่นิ่ง เส้นสั่น บางคนที่ใช้ปากกาหมึกซึมหัวสักหลาดตัดเส้น ก็จะเกิดปัญหาถึงขึ้นหัวปากกาแตกหักเลยก็มี ทั้งนี้ทั้งนั้นปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้นล้วนแต่สืบเนื่องมาจากความเชี่ยวชาญและน้ำหนักมือของผู้ฝึก
ณ จุดนี้คุณครูก็เลยผ่านปากกาเบเบประเภทหมึกซึมหัวสักหลาดอะไรพวกนี้ไปเลยนะคะ เพราะถ้าจะฝึกแล้วเราควรต้องฝึกกันอย่างมืออาชีพ ที่ใช้พู่กันและปากกา G-Pen กันเป็นหลัก
น้องๆ หลายคนมักเกิดคำถามว่า “ทำไมคนญี่ปุ่นถึงทำได้ง่ายๆ ไม่ต้องฝึกอะไรมาก” < ตรงนี้ของถามกลับว่า “แน่ใจเหรอคะว่าคนญี่ปุ่นไม่ได้ฝึก??”
ดังที่ต่างก็รู้กันดีอยู่ว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ใช้พู่กันคัดลายมือกันมาตั้งแต่กำเนิด ตรงนี้ถือเป็นโชคดีอย่างหนึ่งที่ความเชี่ยวชาญถูกฝึกฝนมาด้วยวิถีการดำรงชีวิตปกติ ดังนั้นกับนักวาดดาร์ตูนญี่ปุ่นที่มีพื้นฐานทางศิลปะมาอยู่บ้างแล้ว เมื่อมาจับปากกาตัดเส้นจึงเป็นสิ่งที่ง่ายขึ้นเป็นเท่าตัวจนเหมือนแทบจะไม่ได้ฝึกอะไรใหม่เลย เรื่องมันก็ง่ายๆ เท่านี้แหล่ะค่ะ
ทีนี้กับคนบางคนที่เพิ่งจะมาจับ G Pen ตัดเส้นๆ ใหม่ๆ แล้วใช้ไม่ได้ ใช้ไม่คล่อง ปัญหามันก็เกิดมาจากการขาดความเชี่ยวชาญในการใช้อุปกรณ์ของเรานั่นเอง ซึ่งปัญหาตรงนี้สามารถแก้ได้ง่ายๆ ด้วยการ ‘ฝึกเส้น’ ค่ะ
การฝึกเส้นนั้นนอกจะทำให้เราเข้าใจอุปกรณ์ สามารถใช้มันได้ถนัดมือแล้ว ยังเป็นการฝึกสมาธิ ฝึกน้ำหนักมือ ที่เราจะต้องทำให้เส้นของเรานิ่งที่สุดในน้ำหนักมือที่หลากหลาย ง่ายๆ ไม่ยาก มาดูกันดีกว่าค่ะว่า Ren Ren School เราฝึกเส้นกันยังไง
ภาพลายไทยในตัวอย่างนี้คือภาพที่วาดด้วยปากกาปลายพู่กัน (หัวใหญ่มากกก) แต่คนวาดก็สามารถลากแต่ละเส้นของลายไทยออกมาได้สลิมโดยไม่เลอะเทอะ ทั้งนี้เป็นเพราะผลพวงจากการฝึกเส้นโดยการตัดเส้นภาพลายไทย
เพราะภาพลายไทยเป็นภาพที่มีความอ่อนช้อย ต้องใช้ความใจเย็นและสมาธิมากในการวาดเส้น ดังนั้นหลักสูตรการฝึกเส้นของ Ren Ren จึงเริ่มต้นจากให้น้องๆ ฝึกวาดภาพลายไทย วิธีการง่ายๆ ไม่ยุ่งยาก เพราะเจตนาของเราคือการฝึกเส้น ไม่ได้ฝึกเขียนภาพจิตรกรรมไทย คุณครูจึงไม่โหดร้ายมากพอที่จะให้หนูๆ วาดภาพลายไทยขึ้นมาด้วยตนเอง จะเป็นเพียงแค่การดร๊าฟลายไทยเดิมของคนอื่นที่มีอยู่แล้วเท่านั้นค่ะ
อุปกรณ์ที่ต้องเตรียม
1.พู่กันเบอร์ 0 พิเศษ 2. หมึกดำ 3.กระดาษลอกลาย 4.ภาพลายไทย 5.ปากกา G Pen
เตรียมอุปกรณ์ตามด้านบนนะคะ ถ้าหากระดาษลอกลายไม่ได้คุณครูแนะนำสมุดสเก็ตแบบที่มีกะดาษลอกลายบางๆ คั่น แบบนั้นก็ใช้ได้เช่นกัน
สำหรับพู่กันที่ใช้ เป็นพู่กันเบอร์ 0 พิเศษ ขนพู่กันจะยาวกว่าเบอร์ 0 ธรรมดา หมึกที่ใช้ให้เป็นหมึกธรรมดาๆ อย่างอินเดียอิงค์หรือหมึกจีนไปก่อนก็ได้ < ในระดับการฝึกก็อย่าเล่นหมึกแพงคะ มันเปลืองเงิน 555+ แต่ถ้าฝึกไปถึงขั้นลง G Pen แล้ว อันนี้ต้องใช้หมึกคูณภาพดีหน่อยนะคะ ไม่อย่างนั้นหัวปากกาจะเสียเอาได้ง่ายๆ
ขั้นตอนการฝึก
-นำกระดาษลอกลายที่เตรียมไว้ทาบลงบนภาพลายไทย ใช้เทปกาวติดล็อคไว้ กันกระดาษเขยื้อนออกจากต้นฉบับ
-ใช้พู่กันจุ่มหมึกแล้วลากเส้นตามรอยลากไทยบนกระดาษลอกลาย ถ้าหมึกใสจางและกระดาษลอกลายบางจนเกินไปเส้นจะแตก ให้หาหมึกใหม่ที่ข้นกว่าเดิม หรือเปลี่ยนกระดาษลอกลายให้หนากว่าเดิม
-การลากเส้นพยายามคอนโทรลมือ เส้นที่ลากต้องออกมานิ่ง ไม่สั่นเป็นคลื่น แต่ละจุดเชื่อมต่อของเส้นต้องจรดติดกัน เส้นต้องบางพริ้ว ในส่วนยอดกนกต้องสะบัดปลายพู่กันขึ้น 2 เส้นให้ได้ยอดปลายแหลมชนกัน ห้ามหักเส้นลงมาโดยเด็ดขาด (ดูภาพประกอบ)
-เมื่อมั่นใจว่าตนเองลากเส้นไทยด้วยพู่กันได้ดีแล้วให้นำปากกา G Pen มาฝึกเส้นกับลายไทยต่อไป

คลิกที่รูปเพื่อดูภาพใหญ่

คลิกที่รูปเพื่อดูภาพใหญ่
…