อุปกรณ์วาดการ์ตูน-Screen tone,Eraser, etc.
เหมือนเราจะทำอะไรกระโดดขั้นตอนไปหน่อยหรือเปล่า แนะนำอุปกรณ์วาดการ์ตูน ทั้งปากกาวาดการ์ตูน หมึกวาดการ์ตูน แต่ยังไม่ได้แนะนำกระดาษ ดินสอ ยางลบ อะไรพวกนี้กันเลย ทั้งที่เป็นอุปกรณ์พื้นฐานของการวาดการ์ตูนในลำดับต้นๆ แท้ๆ ว่าแล้วก็มาแนะนำกันเลยค่ะ
กระดาษ
สำคัญที่สุดในการเขียนการ์ตูนที่จะปฏิเสธไม่ได้เลยทีเดียว แม้เป็นเพียงแค่กระดาษ แต่ก็มีอยู่มากมายหลายยี่ห้อ ความหนาและคุณภาพก็แตกต่างกันไป เราควรเลือกใช้ กระดาษให้ตรงกับประเภทของงานมากที่สุด
กระดาษที่ Ren Ren ใช้โดยมากจะมีความหนา 180 g. Up ขนาดเท่ากับกระดาษ A4 ทั่วไป เวลาเขียนการ์ตูนเว้นขอบเข้ามาด้านละ 2 ซ.ม. กระดาษ 180 g. หาซื้อได้ง่ายตามห้างสรรพสินค้าทั่วไป แต่เป็นกระดาษที่ต้องยอมรับว่าเสี่ยงดวง… ยี่ห้อ AA ใช้แล้วรับประกันว่า ‘ห่วยวัดดวง’ ในรีมเดียวกันบางแผ่นใช้ดี บางแผ่นเส้นแตก คนวาดไม่มีวันจะรู้ได้ว่าแผ่นไหนเส้นแตกจนกว่าเราจะตัดเส้น และทันที่ที่รู้ตัว นรกก็มาเยือนต้นฉบับไปเสียแล้ว (เล่าจากประสบการณ์ล้วนๆ T^T)
ยี่ห้อ SB อยู่ในระดับพอใช้ ยี่ห้อนี้ลบรอยดินสอออกยาก ซึ่งถ้าลบมากๆ หน้ากระดาษจะร่อนในระดับนาโน (ตามองไม่เห็น) ซึ่งจะรู้ตัวก็ต่อเมื่อลงหมึกแล้เส้นแตกเปรี๊ยะอีกเช่นกัน สำหรับยี่ห้อนี้ส่วนใหญ่จะใช้ในงาน Copic color มากกว่างานขาวดำ เพราะการซึม Copic ถือว่าอยู่ในระดับใช้ได้ทีเดียว
ส่วนใหญ่ที่ซื้อแล้วระบุยี่ห้อให้ยกตัวอย่างได้ก็มีแค่ 2 อันนี้ อันอื่นไม่ค่อยปะยี่ห้อชัดเจน แต่โดยส่วนใหญ่ที่ซื้อมาตามร้านเครื่องเขียนต่างๆ ก็พอใช้ได้ (กรณีที่เจอเส้นแตกถือว่าดวงซวย -_-‘) กระดาษวาดการ์ตูนที่ขายที่ร้านสยามมาร์เก็ตติ้ง อันนี้ดี (เทียบเท่ากับราคา) เนื้อกระดาษเรียบ ลงหมึกเส้นไม่แตก ถมดำขึ้นเงากระดาษ ทำให้งานออกมาสวย ถือว่าคุณภาพดีสำหรับงานการ์ตูนขาว-ดำระดับหนึ่ง แต่ในงานสี…. การซึม Copic ยังไม่ดีเท่าที่ควร
ในสวนตรงนี้บางคนก็ใช้กระดาษ 100 ปอนด์ เนื้อเรียบ ตามแต่ความถนัด ซึ่ง กระดาษ 100 ปอนด์ก็สามารถใช้ได้ในงานการ์ตูนขาว-ดำ และเนื้อของกระดาษจะทำให้งานสกปรกได้ง่ายกว่ากระดาษ 180 g. เพราะพื้นผิวขรุขระจะทำให้รอยดินสอเปื้อนเป็นปื้นดำบนต้นฉบับได้ง่าน
ดินสอและยางลบ
ดินสอสามารถใช้ดินสอกด ธรรมดาทั่วไปตามแต่ความถนัดของผู้ใช้ แต่ยางลบ ควรเลือกยี่ห้อที่เนื้อเป็นยาง นิ่ม ลบง่าย นักเขียนการ์ตูน ส่วนใหญ่มักใช้ยี่ห้อ Mono อันนี้จากประสบการณ์อีกเช่นกัน ลองมาหลายยี่ห้อแล้ว Mono โอเคที่สุด แต่หากจะซื้อยี่ห้อนี้ก็ควรดูแถบป้ายให้ดี ให้ใช้ Mono รุ่นธรรมดา หากเป็น Mono Light เนื้อยางลบจะแข็งและลบยากมาก
ไม้บรรทัด และเพลท
ไม้บรรทัดที่ใช้ในงานการ์ตูนเป็นไม้บรรทัดที่ใช้กันโดยทั่วไป แต่ในการตีเส้น ของงานการ์ตูน แนะนำว่าควรใช้ไม้บรรทัดที่ยกนูนขึ้นด้านหนึ่ง เพราะการตีเส้นกรอบหรือตี เส้นตรง เราไม่ควรอย่างยิ่งที่จะให้ไม้บรรทัดประกบทาบสนิทลงไปบนกระดาษต้นฉบับ เพราะหมึกจากปากกาจะเยิ้มไปตามไม้บรรทัดและเลอะต้นฉบับได้ หากใช้ไม้บรรทัดยกนูนขึ้นด้านหนึ่ง เวลาตีเส้นตรงเราสามารถใช้ด้านยกนูนนั้นวางลงไปบนกระดาษ ส่วนความยาวของไม้บรรทัดก็ควรมีไว้หลายๆ ขนาด ตั้งแต่ 6 นิ้ว 12 นิ้ว จนถึง 24 นิ้ว เผื่อสำหรับการเขียนฉากที่ต้องตีเส้นวาดเพอร์สเป็คทีพ
นอกจากไม้บรรทัดธรรมดาๆ แล้วยังมีไม้บรรทัดอีกประเภทที่สามารถดัดโค้งได้ อย่างอิสระ ใช้ในการตีเส้นโค้งต่างๆ เรียกว่า กระดูกงู ราคาค่อนข้างสูงแต่ควรมีเก็บไว้ หาก ไม่มีกระดูกงูในการตีเส้นโค้งเราสามารถใช้เพลทเส้นโค้งตีแทนได้ แต่กระดูกจะสามารถปรับ องศาของวงโค้งได้อิสระกว่า
สำหรับไม้บรรทัดนี้ หากหาแบบที่ยกนูกขึ้นไม่ได้ หรือแบบยกนูนที่มีอยู่นั้นมีองศา ของการยกไม่มากพอ เวลาขีดเส้นแล้วหมึกยังเลอะเปื้อนต้นฉบับ ก็สามารถทำไม้บรรทัดให้ ยกนูนเองได้อย่างง่ายๆ โดยการนำ เหรียญ 5 หรือเหรียญ 10 บาท ติดด้วย สก็อตเทปแล้วแปะไว้ใต้ไม้บรรทัดที่ เราจะใช้ เพียงเท่านี้ไม้บรรทัดที่วาง ทาบลงบนกระดาษก็จะยกนูนขึ้นจาก กระดาษต้นฉบับ
กรณีของเพลท เป็นอุปกรณ์ใช้เขียนวงรี วงกลม เส้นโค้ง ฯลฯ ตามแต่ละชนิดของเพลท แบบเพลท หลักๆ ที่นักเขียนการ์ตูนควรมีคือ เพลทวงรี เพลทวงกลม และเพลทเส้นโค้ง
พู่กัน และปากกาปลายพู่กัน
มีอยู่หลายแบบหลายราคา ตั้งแต่สิบกว่าบาทไปจนถึงราคาเหยียบพันตามแต่ยี่ห้อของผลิตภัณฑ์ หากเป็น พู่กันที่ผลิตในไทยราคาจะไม่แพง หาซื้อ ง่าย แต่ถ้าใช้กับหมึกปลาย พู่กันจะแตก ง่าย ในจุดนี้อยู่ที่ความระมัดระวังของ ผู้ใช้ด้วย เพราะแม้ว่าหมึกจะมีคุณสมบัติที่ทำให้ปลายพู่กันแตกง่าย แต่หากใช้เสร็จแล้วรีบ ล้างน้ำให้สะอาด นำปลอกพู่กันมาสวม หากไม่มีปลอกก็ใช้หลอดกาแฟมาตัดแล้วสวมแทน ถ้าเก็บปลายพู่กันได้ดีอายุการใช้งานของพู่กันก็จะนานขึ้น การตกแต่งปลายพู่กันสามารถทำได้ตามความเหมาะสม เป็นต้นหากขนปลายพู่แตกบางส่วนหรือหัวพู่กันใหญ่เกินไปก็ สามารถใช้คัตเตอร์ แต่งริดขนปลายพู่กันออกให้เรียวลงได้
ในงานการ์ตูนเราสามารถใช้พู่กันเบอร์ 0 พิเศษสำหรับการตัดเส้น พู่กันเบอร์ 0 พิเศษ มีน้อยบริษัทที่ผลิตออกมา ที่ราคาไม่แพงและที่ใช้ได้ดีที่สุดคือ เบอร์ 0 พิเศษของ สง่า มยุระ
นอกเหนือจากการตัดเส้นแล้วยังมีการถมดำที่ต้องใช้พู่กัน การถมดำนี้จะใช้เบอร์พู่กันที่แตกต่างกันไป ตามพื้นที่ที่ต้องการจะถมดำ ส่วนการถมดำเส้นผมเบอร์ที่ใช้ก็ตามแต่ความถนัดของแต่ละบุคคล
ยังมีอุปกรณ์อีกอย่างหนึ่งนอกเหนือจากพู่กันที่ใช้ในการถมดำงานการ์ตูน คือ ปากกาปลายพู่กัน มีลักษณะด้ามเป็นปากกา ปลายเป็นพู่กัน มีหมึกในตัว สามารถเปลี่ยน หลอดหมึกได้ เป็นอุปกรณ์สั่งเข้า ราคาสูง ต่อด้าม 165-400 บาท ยี่ห้อที่มีขายในไทยคือ Kikuyo และ Pentel ใช้ดีทั้ง 2 ยี่ห้อ และไม่กันน้ำทั้ง 2 ยี่ห้อเช่นกัน -_-‘
ในการถมดำนอกจากการใช้พู่กันจุ่มหมึกแล้ว บางคนอาจใช้ปากกาเมจิหรือ ปากกาเคมีหัวใหญ่ ซึ่งไม่ขอแนะนำ เพราะอาจเป็นวิธีสิ้นคิดที่ง่ายและสะดวกก็จริง แต่มิได้ส่งเสริมคุณภาพที่ดีให้กับงานเลย โดยหมึกของปากกาพวกนี้นอกจากจะไม่กันน้ำแล้ว สีของหมึกยังดำไม่สนิท ไม่กลืนกับหมึกของเส้นที่ลง และหากเก็บไว้นานหมึกจะกลายเป็น สีน้ำตาลออกเหลือง ซึ่งทำให้ต้นฉบับเสียและไม่น่าดู
Screen tone
อุปกรณ์ใช้สำหรับการตกแต่งภาพ การ์ตูนอย่างหนึ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่าง มากกับงานการ์ตูนในปัจจุบัน มีลักษณะ เป็นสติ๊กเกอร์พิมพ์ลาย สามารถใช้คัตเตอร์ ขูดตกแต่งลายที่พิมพ์ได้ ใช้นำไปติดตกแต่ง ในงานการ์ตูน ราคาค่อนข้างสูง 70-80 บาท ต่อ 1 แผ่น 1 ลาย
ในกรณีสำหรับผู้เริ่มต้นแล้ว ยังมี Screen tone แบบที่สามารถทำเองได้ ราคาวัสดุ จะถูกกว่าสกรีนของแท้อยู่มาก ซึ่งปัจจบันนี้ โดยส่วนใหญ่แล้วนักเขียนการืตนทั่วไปมักใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการตกแต่งสกรีนโทน เพราะง่าย สะดวก และประหยัดกว่าสกรีนโทนแผ่นที่ต้องสั่งเข้าจากญี่ปุ่น
บทความที่เกี่ยวข้อง